กลุ่ม Millennials ให้ความสนใจกับแบรนด์หรือร้านค้าบนโซเชียลมีเดีย

จากการศึกษาพบว่ากลุ่ม Millennials ถึง 82% จะมุ้งมิ้งกับแบรนด์หรือร้านค้าบนโซเชียลมีเดีย และมีถึง 49% ที่กดติดตามแบรนด์หรือร้านค้าที่ตัวเองชอบ

เพื่อที่จะจับกลุ่ม Millennials หรือกลุ่มคนที่มีอายุ 18-29 ในปัจจุบัน นักการตลาดต้องเน้นให้ความสำคัญกับมือถือ มันคือช่องทางที่ดีที่สุดที่จะไปถึงคนกลุ่มนี้ เพราะเป็นกลุ่มที่มีมือถือครอบครองสูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงอายุอื่นๆ

การทำอะไรที่เหมาะกับแต่ละบุคคลก็เป็นเรื่องสำคัญ จากการศึกษาพบว่า 85% ของกลุ่ม Millennials จะซื้อต่อเมื่อสินค้านั้นถูกออกแบบมาให้เป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะซื้อทางออฟไลน์หรือออนไลน์ก็ตาม

นอกจากนี้ความเป็นตัวจริงก็ห้ามละเลย คนกลุ่มนี้ถ้าชอบก็จะแชร์ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่รู้ว่าแบรนด์กำลังโฆษณาหลอกลวงก็จะไม่ชอบทันที การศึกษายังระบุว่า 1 ใน 3 ของคนกลุ่ม Millenials จะใช้บล็อกเป็นแหล่งข้อมูลหลักก่อนตัดสินใจซื้อสินค้า

เมื่อดูการจับจ่ายใช้สอย กลุ่ม Millennials จะหมดเงินไปกับการเข้าสังคม การศึกษา เสื้อผ้า การบริการ ซึ่งจะแตกต่างกับกลุ่ม Gen X และ Baby Boomers ที่เน้นเรื่องประกัน และการดูแลสุขภาพเป็นหลัก

ก้าวให้ทันเทคโนโลยี

ด้วยกระแสเทคโนโลยีที่มาไวไปไว ทำให้บริษัทนั้นไม่รู้ว่าจะโฟกัสเรื่องไหนดีในการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีนั้น ควรจะใช้เทคโนโลยีมาทำ 4 เรื่องนี้ก่อนในความจริงแล้วการเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ใช่เรื่องเทคโนโลยีเป็นหลัก แต่เป็นเรื่องแนวความคิด และความเข้าใจในความเปลี่ยนแปลงที่เทคโนโลยีเหล่านี้มีผลมากกว่า เพราะหากมีความเข้าใจที่ผิดแล้วก็สามารถสร้างความเสียหายต่อองค์กรได้อย่างมาก การที่จะเปลี่ยนแปลงใด ๆ ควรจะโฟกัสการเปลี่ยนแปลงว่าจะใช้เทคโนโลยีอะไรให้ถูกจุดก่อน

1. หาว่าผู้บริโภคมีปัญหาที่จุดไหน และแก้ไขที่จุดนั้นก่อน

ก่อนที่จะเปลี่ยนแปลงใด ๆ ไปสู่การทำ Digital Transformation ต่าง ๆ สิ่งที่ควรรู้คือ ปัญหาของลูกค้าหรือผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย เพราะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้แก้ปัญหาของผู้บริโภคเจอนั้นจะกลายเป็นการแก้ปัญหาที่ผิดจุด ปัญหาของผู้บริโภคที่ไม่ถูกแก้นั้นจะยังคงอยู่เมื่อทำ Digital Transformation ไปแล้ว ซึ่งสุดท้ายแล้วคุณจะไม่ได้ลูกค้ากลับมาอยู่ดี หรือทำ Digital Transformation นั้นไม่เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะผู้บริโภคจะเผชิญปัญหาเดิม ๆ อยู่ ยกตัวอย่างเช่น การซื้อของที่ร้านค้าเจอความยากลำบากในการเคลมสินค้า ปรากฏว่าคุณอยากได้ลูกค้าเพิ่มขึ้นเลยทำ E-commerce แต่ไม่ได้แก้เรื่องการเคลมสินค้า ทำให้ประสบการณ์การซื้อนั้นก็ยังคงแย่อยู่ การแก้ปัญหาขั้นต้นที่ผู้บริโภคเจอ จะช่วยยกระดับประสบการณ์ของผู้ใช้ได้ เพราะฉะนั้นการเข้าใจว่าจะแก้ไขปัญหานี้ด้วยอะไรและใช้เทคโนโลยีไหนมาแก้ปัญหานั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญ เช่น การแก้ปัญหาการ Check In ที่สนามบินด้วยการใช้เทคโนโลยีการ Check In ผ่าน App หรือตู้ Check In เอง ช่วยประหยัดเวลาให้ผู้บริโภคที่ต้องมายืนเข้าแถวกันอย่างมาก

2. ยกระดับการบริการลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น

การบริการลูกค้านั้นเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความประทับใจต่อลูกค้า เพราะเป็นส่วนที่ลูกค้านั้นจะมีปฏิสัมพันธ์เข้ามาอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นช่องทางการขายหรือหลังการขายนั้นเอง การบริการที่ไม่ดีหรือมีความไม่แตกต่างจากคู่แข่ง ย่อมทำให้ลูกค้านั้นสามารถเปลี่ยนใจหรือหันไปใช้แบรนด์อื่นที่อาจจะมีความแตกต่างเล็กน้อยได้ทันที หลาย ๆ แบรนด์ในยุคนี้เลยมาด้วย Motto “Customer 1st” หรือ “Customer Centric” กัน ด้วยการทำการบริการต่าง ๆ ให้ลูกค้านั้นเกิดความประทับใจหรือชอบในบริการที่สูงสุด ซึ่งจะเกิดความจงรักภักดีต่อแบรนด์ขึ้นมา จนถึงการกลายเป็นกระบอกเสียงของแบรนด์ได้ต่อไป ทั้งนี้ในยุคนี้การบริการกลายเป็นเรื่องสำคัญ การโฟกัสในการบริการลูกค้าโดยการใช้เทคโนโลยีนั้นจึงสำคัญขึ้นมาด้วย ซึ่งเห็นได้จากบริการของห้างต่าง ๆ ที่บริการลูกค้าได้ดีขึ้นด้วย Omnichannel เชื่อมต่อข้อมูลของผู้บริโภคเข้าด้วยกันหมด ทำให้ผู้บริโภคนั้นไม่เสียเวลาในการซื้อของ หรือสามารถซื้อและเคลมสินค้าที่ไหนก็ได้ต่อไป รวมทั้งการไม่ต้องกังวลกับการที่สินค้าหมด เพราะสามารถสั่งจากร้านได้ทันทีเช่นกัน ตัวอย่างจากเมืองนอกเองก็เห็นได้จากการใช้ Twitter เข้ามาบริการลูกค้าอย่าง Bestbuy, KLM หรือ Virgin เองก็ตาม

3. สร้างความแตกต่างผ่าน Personalised

ด้วยยุคนี้ที่อะไรก็คล้าย ๆ กัน การสร้างความแตกต่างนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก การสร้างประสบการณ์ของลูกค้าที่เหมาะกับแต่ละคนนั้น ทำให้เกิดความประทับใจในการดูแลว่าองค์กรนั้นเข้าใจในลูกค้าของแต่ละคน ว่ามีความต้องการที่ไม่เหมือนกัน ดังเช่น Starbucks ที่จะรู้จักลูกค้าของตัวเองว่าแต่ละคนชอบทานเครื่องดื่มอะไร และบริการที่สร้างความประทับใจในแต่ละคนได้ ทั้งนี้ด้วยยุคนี้ที่สามารถเก็บข้อมูลได้มากมายเช่นนี้ การใช้เทคโนโลยีจะทำให้สามารถสร้างสิ่งที่ตรงใจผู้บริโภคมากขึ้นไปได้อีก ดังเช่นที่ Amazon สามารถนำเสนอสินค้าให้แต่ละคนได้จากการที่เก็บข้อมูลของผู้บริโภคในการซื้อของมา และให้โปรโมชั่นที่ไม่เหมือนในแต่ละคนได้ ทั้งนี้อย่างห้างเองที่ทำโปรโมชั่นออกมาเป็นแบบให้ทุกคนได้ร่วมโปรโมชั่นนั้น แต่ในความจริงแล้วทุกคนอาจจะไม่ได้ชอบโปรโมชั่นเดียวกัน การนำเสนอโปรโมชั่นของห้างที่เหมาะกับแต่ละคนด้วยการเก็บข้อมูลจากเครื่องมือเทคโนโลยีพวกนี้จึงกลายเป็นส่วนสำคัญที่จะสร้างความประทับใจต่อผู้บริโภคของตัวเองมากขึ้น

4. โฟกัสในสิ่งที่สำคัญ

กระแสเทคโนโลยีนั้นมาอย่างไม่สิ้นสุด และมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ สิ่งที่เคยใช้ได้วันนี้อาจจะใช้ไม่ได้ในวันพรุ่งนี้ หลาย ๆ เทคโนโลยีก็อยู่ในขั้นพิสูจน์ตัวเองว่าจะทำงานได้หรือใช้ได้กับทางธุรกิจไหม การที่จะเลือกเทคโนโลยีหนึ่งใดมาใช้นั้นต้องคิดก่อนว่า เทคโนโลยีนั้นจะมาช่วยเติมเต็มหรือช่วยอะไรให้ธุรกิจนั้นดีขึ้น หรือช่วยให้ผู้บริโภคนั้นสามารถมีประสบการณ์ที่ดีขึ้นได้ และสามารถทำให้ธุรกิจตัวเองแตกต่างจากผู้อื่น ๆ โฟกัสในสิ่งสำคัญของธุรกิจตัวเองและมองว่าเทคโนโลยีที่มานั้นจะช่วยอย่างไรได้

ทั้งนี้เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อย ๆ และหลาย ๆ ครั้งบริษัทนั้นไวไล่ตามอย่างไม่คิด การเลือกเทคโนโลยีมาใช้จาก 4 จุดนี้คงจะช่วยได้ไม่มากก็น้อยในการที่จะหาเทคโนโลยีที่ถูกต้อง และไม่สร้างความล้มเหลวหรือละลายงบประมาณออกไปจากการมาของคลื่นเทคโนโลยีต่าง ๆ นี้

ข้อมูลเพิ่มเติม : http://www.nipa.co.th

ทำอย่างไรให้ธุรกิจออนไลน์นั้นอยู่รอด

สำหรับในวันนี้เป็นการยากที่จะปฏิเสธว่า คนรุ่นใหม่นิยมกระโดดเข้ามาทำธุรกิจกันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำธุรกิจออนไลน์ ด้วยพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ บางคนเมื่อเรียนจบก็เลือกที่จะทำธุรกิจออนไลน์ทันที ขณะที่บางคนเมื่อทำงานได้ 1-2 ปี ก็ตัดสินใจลาออกมาทำธุรกิจออนไลน์ ประกอบกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่ผู้บริโภคยังกล้าๆ กลัวๆ ในการซื้อของจ่ายเงินบนออนไลน์ แต่ในวันนี้ผู้บริโภคเห็นแล้วว่า การซื้อของออนไลน์มีความปลอดภัย มีความสะดวกสบาย และง่ายต่อการจ่ายเงินมากขึ้น ที่สำคัญราคาไม่สูงไปกว่าการขายหน้าร้าน ดังนั้น จึงไม่แปลกที่จะมีผู้ประกอบการออนไลน์ใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งทำให้เกิดการแข่งขันกันสูง ตลาดออนไลน์ในวันนี้จึงพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือกันเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ตลาดออนไลน์ที่ว่าใครๆ ก็สามารถเข้ามาค้าขายกันง่ายๆ นั้น อันที่จริงแม้จะเข้ามาเปิดร้านทำธุรกิจง่าย แต่ก็ยากที่จะอยู่รอดและเติบโตขึ้นไปได้ ไม่เชื่อลองสังเกตดูก็จะเห็นว่า มีผู้ประกอบการออนไลน์หลายรายที่ไปไม่รอดเลิกกิจการทั้งๆ ที่เพิ่งเริ่มตั้นไม่เท่าไหร่ก็มากมาย ดังนั้น จึงขอแนะนำผู้ประกอบการออนไลน์ในยุคนี้ ที่อยากจะอยู่ได้อย่างแข็งแกร่งบนโลกออนไลน์ว่า…

1. ต้องมีความน่าเชื่อถือ ทั้งในแง่เว็บไซต์และบริษัท ซึ่งการสร้างความน่าเชื่อถือเป็นเรื่องสำคัญมากๆ โดยอาจจะมีการเปิดเผยข้อมูลของธุรกิจและสินค้าให้ชัดเจน มีการปรับปรุงข้อมูลตลอดเวลา เพื่อยืนยันว่าเว็บไซต์นี้มีคนดูแลอยู่ มีการบริหารการจัดส่งสินค้าที่ตรงเวลา รวดเร็ว ตรวจสอบสถานะได้ เป็นต้น

2. เลือกสรรสินค้าที่มีความแตกต่าง ซึ่งในเรื่องนี้ผู้ประกอบการต้องทำการบ้านมากหน่อย เพื่อดูว่าจะนำสินค้าอะไรมาจำหน่าย ในตลาดตอนนี้มีสินค้าอะไร มากน้อยแค่ไหน โดยอาจจะสมมุติว่าตัวเองเป็นผู้บริโภคคนหนึ่ง แล้วตั้งคำถามว่า จะซื้อสินค้านี้หรือไม่? แล้วทำไมต้องซื้อกับเรา?

3. การทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อผูกใจและสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า ซึ่งหากสามารถทำได้จะเกิดกระแสการบอกต่อทำให้ร้านค้าออนไลน์ของเราเป็นที่รู้จักมากขึ้น หรือหากลูกค้าประทับใจมากๆ เกิดเป็นกระแสไวรัลได้ โดยอาจจะมีการทำโปรโมชั่นเรื่อยๆ มีการแจกของ ซึ่งบางครั้งราคาของก็ไม่จำเป็นต้องสูงมากมายอะไร แต่สามารถทำให้ลูกค้ารู้สึกสนุกไม่น่าเบื่อ ไม่ใช่แค่เรื่องของการขายของอย่างเดียว ก็จะเกิดความประทับใจได้ และทำให้เราได้มีความใกล้ชิดกับลูกค้าเพิ่มมากขึ้น จนกระทั่งสุดท้าย อาจจะขยับขยายสร้างเป็นคอมมูนิตี้ และเป็นแฟนคลับ ซึ่งจะทำให้เกิดความรู้สึกรักและผูกพันกับเรามากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะทำใน 3 สิ่งข้างต้นแล้ว ต้องอย่าลืมว่าในวันนี้ตลาดออนไลน์มีการแข่งขันสูง และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ดังนั้น ในการทำธุรกิจทุกครั้งก็ต้องเหลียวมองคู่แข่งขันด้วยว่า เขาทำอะไรกันอยู่และไปถึงไหนกันแล้ว เพื่อว่าเราจะได้ไม่ประมาท และที่สำคัญต้องไม่พลาดที่จะเกาะติดและศึกษาเทรนด์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ซึ่งล้ำหน้ากว่าเราไปเยอะมาก โดยตรงนี้เราสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจเราได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลยุทธ์การตลาดที่แปลกใหม่